สนามหลวง สวยจริง

สนามหลวง

    ถ้าเอ่ยถึงชื่อ "สนามหลวง" เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะถือเป็นสถานที่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ซึ่งบริเวณรอบ ๆ ยังมีกิจกรรมให้ไปท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะไปเล่นว่าวเพลิน ๆ ให้อาหารนก หรือนั่งพักผ่อนหย่อนใจแบบชิลล์ ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับ "สนามหลวง" มาบอกกัน
สนามหลวง

สนามหลวง

สนามหลวง

          ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา

สนามหลวง

สนามหลวง

          แต่เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก "ทุ่งพระเมรุ" เป็น "ท้องสนามหลวง" ดังปรากฏในประกาศว่า...

          "ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’"

สนามหลวง

สนามหลวง

          ทั้งนี้ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญ เป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

สนามหลวง

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่าง ๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

สนามหลวง

          และในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

          นอกจากนี้ สนามหลวง ยังเคยเป็นตลาดนัดวันเสาร์และอาทิตย์อยู่ประมาณ 25 ปี จึงได้ย้ายไปที่ สวนจตุจักร ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจัดให้มีกิจกรรมนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของสนามหลวงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

สนามหลวง

สนามหลวง

          ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะเข้าไปใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกกำลังกายภายในสนามหลวง สามารถใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 05.00 - 24.00 น. นอกเหนือจากเวลานี้สนามหลวงจะปิดบริการ แต่หากใครฝ่าฝืนบุกรุกเข้าไปในสนามหลวงอันเป็นโบราณสถาน จะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          อย่างไรก็ตาม หากแวะเวียนไปสัมผัมความสดชื่นรื่นรมย์ของสนามหลวง ก็อย่าลืมไปสักการะศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว และวัดโพธิ์ ซึ่งอยู่บริเวณ ๆ ใกล้ ๆ เพื่อเป็นสิริมงคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น